เนื่องจากกรมการขนส่งทางบก กำหนดให้รถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุกขนส่ง ที่จดทะเบียนใหม่ ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2559 เป็นต้นไป บางประเภท ต้องติดตั้งระบบติดตามรถ GPS Tracking โดยเชื่อมโยงข้อมูลเข้ากับศูนย์บริหารจัดการเดินรถของกรมการขนส่งทางบก เพื่อจัดเก็บข้อมูลรถทุก 1 นาที เป็นข้อมูลการใช้ความเร็ว, ชั่วโมงการขับขี่ และตำแหน่งพิกัดของรถ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ประกอบการขนส่งติดตามพฤติกรรมของพนักงานขับรถ เพื่อกำหนดมาตรการในการป้องกันและลดอุบัติเหตุ อีกทั้งยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือบริหารการขนส่งทางบกให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
กรมการขนส่งทางบก มีแนวคิดในชื่อโครงการช่วงเริ่มแรกว่า “มั่นใจทั่วไทย รถใช้ GPS” ที่ริเริ่มมาตั้งแต่ต้นปี 2559 ก่อนหน้าประกาศให้ผู้ประกอบการที่มีรถบรรทุกและรถสาธารณะรับทราบในปี 2562
จุดประสงค์ของการติด GPS รถ เพื่อให้ผู้ประกอบการขนส่งและคนทั่วไปสามารถติดตามและควบคุมพฤติกรรมการขับรถของพนักงานขับรถได้ ณ เวลานั้นเลยหรือแบบเรียลไทม์ (Real time) เช่น ความเร็วที่ใช้ เส้นทางที่ใช้ ระยะทาง ตำแหน่งที่รถวิ่งอยู่ ชั่วโมงการขับขี่รถและพักรถ ฯลฯ
ข้อมูลจาก GPS รถที่ได้ จะทำให้ผู้ประกอบการรถสาธารณะหรือยานพาหนะเพื่อการพาณิชย์อย่างรถบรรทุกสามารถนำไปบริหารการเดินรถหรือขนส่งให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด อาทิ กำหนดระยะทางวิ่งรถให้สั้นลง เพื่อประหยัดน้ำมันและปลอดภัยกว่า ออกแบบพฤติกรรมการขับขี่ที่เหมาะสมเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น
กรมการขนส่งฯ เชื่อว่า ผลลัพธ์ของการมี GPS ติดตามรถ จะช่วยลดต้นทุนการขนส่ง พัฒนาระบบโลจิสติกส์ (Logistics) ลดการใช้พลังงานและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญ GPS เพิ่มความปลอดภัยให้กับการขับขี่ ด้วยการลดความเสี่ยงการอุบัติเหตุได้
By wgt graphic